ปลากุเลาเค็มตากใบ ปลาเค็มรสชาติดีมีที่มาอย่างไร มาทำความรู้จัก ปลากุเลาตากใบ ราชาแห่งปลาเค็มกัน!

           

          'ปลากุเลาเค็มตากใบ' วัตถุดิบที่กำลังมาแรงและถูกพูดถึงมากที่สุดในตอนนี้ หลังจากได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในวัตถุดิบมื้ออาหารสำหรับงานประชุมเอเปค 2022 วันนี้ Ryoiireview จึงอยากจะชวนมาทำความรู้จัก 'ปลากุเลา' จากอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสให้มากยิ่งขึ้น ว่าแตกต่างจากปลาอื่นๆ อย่างไร และเพราะเหตุใดจึงได้ชื่อว่าเป็น 'ราชาแห่งปลาเค็ม'

 

 

ปลากุเลาเค็มตากใบคืออะไร ?

           แท้จริงแล้วปลากุเลาเค็มตากใบมีตำนานสืบทอดมานานกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นการถนอมอาหารแบบภูมิปัญญาชาวบ้านในรูปแบบปลาเค็ม ที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเฉพาะท้องถิ่นของชาวอำเภอตากใบนานกว่าร้อยปี

 

Cr. ภาพจาก Facebook สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.นราธิวาส

 

           สาเหตุที่เริ่มต้นจากถนอมอาหารในรูปแบบนี้ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของอำเภอตากใบ เป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทะเลที่ติดกับแม่น้ำตากใบและแม่น้ำสุไหง-โกลก ทำให้ชายฝั่งทะเลมีความหลากหลายทางชีวภาพและอาหารตามธรรมชาติ จึงมีปลากุเลาเข้ามาหาอาหารกินใกล้ชายฝั่ง ชาวประมงในแถบนั้นจึงจับปลากุเลาสดได้เป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการถนอมอาหารเพื่อให้เก็บปลากุเลาไว้ให้นานที่สุด

 

Cr. ภาพจาก Facebook สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.นราธิวาส

 

           และเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ในทะเลบริเวณปากแม่น้ำตากใบ ปลากุเลาของที่นี่จึงมีความแตกต่างและมีรสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์ ทั้งเนื้อแน่น เนียนละเอียด ปลาผิวเรียบตึงสวย อีกทั้งเมื่อนำมาทำเป็นปลาเค็ม จึงได้ปลากุเลาเค็มที่เป็นปลาเนื้อฟู มีรสชาติที่ไม่เค็มจัดจนเกินไป อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร จนได้สมญานามว่าเป็นราชาแห่งปลาเค็ม

 

ขั้นตอนการทำปลากุเลาเค็ม

           แต่กว่าจะได้มาซึ่งราชาปลาเค็มแต่ละตัว ต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และมีหลากหลายขั้นตอน จนทำให้ปลากุเลาเค็มตากใบเป็นวัตถุดิบที่ค่อนข้างมีคุณค่า และมีราคาสูงตามคุณภาพ โดยราคาจะอยู่ที่ประมาณ 1,500 - 2,000 บาท / 1 กิโลกรัม ทำให้มีคำพูดติดปากเมื่อพูดถึงปลากุเลาเค็มตากใบว่า 'คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน' เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วคนมักจะซื้อเป็นของฝากมากกว่าที่จะนำมารับประทานเอง

 

Cr. ภาพจาก Facebook สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.นราธิวาส

 

           สำหรับขั้นตอนการทำปลากุเลาเค็มตากใบ จะมีขั้นตอนดังนี้

  1. คัดเลือกปลากุเลาที่มีคุณภาพดี ขนาดเหมาะสม ปลาสดใหม่ ไม่แช่แข็ง และที่สำคัญต้องเป็นปลากุเลาจากอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสเท่านั้น ขนาดตัวอยู่ที่ประมาณ 40 - 60 ซม. หลังจากนั้นให้นำปลากุเลามาขอดเกล็ด ควักไส้ทิ้งโดยไม่ผ่าท้องปลา และล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย

  2. เมื่อทำความสะอาดเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้นำเกลือยัดท้องปลาและกลบตัวปลา หมักทิ้งไว้ 2-3 วัน ในภาชนะปิดฝามิดชิด

  3. นำปลาที่หมักไว้มาทำความสะอาด และใช้กระดาษผูกมัดห่อหัวปิดปากปลา เพื่อป้องกันแมลง

  4. นำปลามาตากแดด และห้อยหัวลงเพื่อให้น้ำออกจากตัวปลา

  5. นำปลาที่ตากแดดมารีดน้ำออกจากตัวปลา โดยใช้ไม้คลึงตัวปลาเบาๆ และนำไปตากแดดแบบห้อยหัวลงอีกครั้ง โดยขั้นตอนนี้จะต้องทำทุกวันต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าปลาแห้ง ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ปลากุเลาเค็มมีกลิ่นหอมและเนื้อฟู น่ารับประทาน

 

           เพื่อให้ปลากุเลาเค็มที่มีรสชาติเค็มกลมกล่อมและมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ แต่ละร้านในอำเภอตากใบจึงค่อนข้างที่จะพิถีพิถันในแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังต้องอาศัยปัจจัยสำคัญอย่างความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่ทำให้ได้ปลากุเลาที่มีคุณภาพดีเนื้อแน่น จึงขอบอกเลยว่ากว่าจะได้ปลากุเลาเค็มที่มีรสชาติดีจนได้สมญานามว่าราชาแห่งปลาเค็มนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย! และจัดว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกหนึ่งตำนานที่ควรค่าแก่การสืบสานต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

 







TOP